ติดเกาะ! ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไป “ลี้ภัยการเมือง” ที่ปีนัง
BY
ADMIN
– มีนาคม 18, 2013POSTED IN: คอลัมน์, สารคดีพิเศษ, หมวดย่อย, โลกศิลปะวัฒนธรรม
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉายที่ห้องทำงานเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๕
ยามเยาว์เห็นโลกล้วน แสนสนุกเป็นหนุ่มสาวก็หลงสุข ค่ำเช้ากลางคนเริ่มเห็นทุกข์ สุขคู่ กันนอตกแก่จึ่งรู้เค้า ว่าล้วนอนิจจัง |
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒๔๗๗
๒๔๗๗
พ.ศ. ๒๔๗๖ หนึ่งปีให้หลังจากที่ “คณะราษฎร” ทำรัฐประหารรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย สถานการณ์เลวร้ายลงอีกในเดือนตุลาคม เมื่อ “คณะกู้บ้านเมือง” นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชฯ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำกำลังทหารจากภาคเหนือและภาคอีสานมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำปฏิวัติซ้อน ยึดอำนาจรัฐบาลคณะราษฎรถวายคืนกลับให้พระมหากษัตริย์ แม้แผนการนั้นจะล้มเหลวเมื่อกองทัพคณะกู้บ้านเมืองตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกลายเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม “กบฏบวรเดช” แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระราชวงศ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วเลวร้ายลงจนถึงขั้นร้าวฉาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ ไปยุโรป ด้วยเหตุผลที่แถลงอย่างเป็นทางการว่าเพื่อไปรักษาพระเนตร
ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระชนมายุ ๗๑ กราบถวายบังคมลาไปประทับที่เกาะปีนัง ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ปีนังในแผนที่เส้นทางรถไฟ (ที่มา : ที่รฦกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ๒๔๕๙)
ฉายกับรพินทรนาถ ตะกอร์ นักคิดนักเขียนชาวอินเดีย ณ วังวรดิศ พ.ศ.๒๔๗๐ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับในระแกะ เมื่อคราวเสด็จฯ ตรวจราชการมณฑลอีสาน ระหว่างทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๙ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
ปีนังหรือที่คนไทยรู้จักกันมานานในนาม “เกาะหมาก” (Penang-หมาก) เกาะในช่องแคบมะละการิมฝั่งตะวันตกคาบสมุทรมลายู แม้จะมิได้อยู่ในเขตแดนสยาม แต่ถือว่าไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ นัก เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟสายใต้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของอังกฤษในมลายูมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ ข้าราชสำนักผู้บันทึกจดหมายเหตุการเสด็จฯ เยือนมลายูของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ถึงกับกล่าวว่าปีนังเป็นเหมือน “โรงหนังข้างบ้าน” ของชาวกรุงเทพฯ คือจะไปเมื่อไหร่ก็ได้
แล้วทำไมสมเด็จฯ ถึงต้องเสด็จไปปีนัง ?
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจบริหารปกครองทั่วทั้งราชอาณาจักรมากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่แรกตั้งกระทรวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จนตลอดรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องไปถึงปีแรก ๆ ของสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังจากนั้นก็ทรงรับหน้าที่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงดูแลการจัดพิมพ์เอกสารโบราณ รวมทั้งทรงนิพนธ์คำนำ คำอธิบาย และหนังสือประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไว้อีกมากมาย ยิ่งเมื่อล่วงเข้ามาถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เป็น “อากรม” ที่ในหลวงทรงนับถือ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นหนึ่งในอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินตั้งแต่ต้นรัชกาล กับทั้งยังทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จฯ กรมพระยา” อันเป็นลำดับสูงสุดแห่งพระอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ เรียกง่าย ๆ ว่ายังทรงมีบารมีเปี่ยมล้น
ดังนั้นในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือหลังวันคล้ายวันประสูติพระชนมายุ ๗๐ พรรษา เพียง ๓ วัน เมื่อคณะราษฎรทำการรัฐประหาร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องถูก “ทูลเชิญ” ไปควบคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ซึ่งอันที่จริงพระองค์หลังนี้มิได้อยู่ในรายชื่อที่คณะราษฎรต้องการตัว แต่บังเอิญว่าในเช้าวันนั้นหลังจากที่ทรงทราบข่าวการยึดอำนาจ จึงเสด็จจากที่ประทับ ณ ตำหนักปลายเนิน คลองเตย ไปยังวังวรดิศของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบนถนนหลานหลวง เพื่อสอบถามและปรึกษาหารือ เลยพลอยต้องทรง “ติดหลังแห” ไปประทับที่ห้องราชองครักษ์ อาคารชั้นเดียวด้านข้างพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยกัน
หลังจากนั้น ๓-๔ วัน ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัว พร้อมกับถูกปลดออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงย้ายจากวังวรดิศไปประทับที่ “สำนักดิศกุล” บ้านพักชายทะเลของพระองค์ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงเขียนจดหมายแจ้งข่าวไปยังมิตรสหายชาวต่างประเทศว่าขณะนี้ทรง leading a retired life (ใช้ชีวิตหลังเกษียณ) อยู่ แต่แล้วเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎรหลังกรณีกบฏบวรเดช ประกอบกับข่าวลือที่ว่าอาจมีการจับเจ้านายเป็นตัวประกันไว้ต่อรองกับในหลวงอีก ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จฯ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับที่เกาะปีนัง ทรงเล่าไว้ในจดหมายที่มีมาถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ภายหลังเสด็จถึงปีนังไม่กี่วันว่า
“…ไม่มีอะไรเป็นประกันว่าที่ในกรุงเทพฯ จะเรียบร้อยได้โดยเร็ว ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเชื่อว่าปลอดภัย แต่ส่วนเรายังเชื่อไม่ได้ว่าปลอดภัยจากถูกจับเป็นตัวจำนำสำหรับบังคับในหลวง จึงคิดว่ารออยู่ห่าง ๆ ก่อนจะดีกว่า…”
ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ด้วยความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟของมาเลเซีย เราจึงได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศย้อนยุค-กลับไปสู่วันคืนที่เวลายังคงผ่านไปอย่างเนิบช้า-โดยใกล้ชิด ขบวนรถด่วนพิเศษ ๓๕ กรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวอร์ธ แถมเวลาเดินทางให้อีกโดยไม่คิดมูลค่า ดังนั้นจากเวลา ๒๒ ชั่วโมงที่ระบุไว้ในตารางเดินรถ เราเลยได้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนรถไฟตู้เดิมของรถขบวน ๓๕ กันกว่า ๒๕ ชั่วโมง !
ตั้งแต่เมื่อ ๘๐ ปีก่อน ขบวนรถด่วนจากกรุงเทพฯ มายังสถานีที่จะข้ามไปยังเกาะปีนังเคยใช้เวลา ๒๒ ชั่วโมงเสมอ และนั่นคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ตัดสินพระทัยเลือกมาประทับที่ปีนังในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
นอกจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จออกมาประทับที่ปีนัง พร้อมด้วยพระธิดา ๓ องค์ คือ “หญิงพูน” ม.จ. พูนพิศมัย “หญิงพิลัย” ม.จ. พิลัยเลขา และ “หญิงเหลือ” ม.จ. พัฒนายุ ดิศกุล แล้ว ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ที่เลือกเกาะปีนังเป็นที่พำนัก อาทิ สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระบิดาและพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมองค์สุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เสด็จออกมากับพระมารดา คือเจ้าจอมมารดาทับทิมในรัชกาลที่ ๕ และพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย พระขนิษฐา (พี่สาว) รวมทั้ง ม.จ. วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล อดีตราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า-เจ้าอยู่หัว ก็ทรง “ลี้ภัยการเมือง” ออกมาปีนังด้วย นอกจากนั้นยังมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งหลังจากถูกรัฐประหารเงียบโดยคณะราษฎร ก็ต้องออกมาปักหลักอยู่ที่ปีนังหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเช่นกัน
แต่แรกที่เสด็จถึงปีนัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับที่บ้านอัษฎางค์ของตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเคยจัดเป็นที่รับเสด็จเจ้านายไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ทรงหาบ้านเช่าได้ ทรงเล่าในจดหมายลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า
“…บัดนี้หาได้แล้ว…เรียกชื่อว่าซินนะมอนฮอลล์ แปลว่าบ้านอบเชย เป็นเรือน ๒ หลังต่อกันกว้างขวางและมีเครื่องแต่งพร้อม แต่ก่อนเช่ากันเดือนละ ๓๐๐ เหรียญ แต่เดี๋ยวนี้ค่าเช่าตก จะเช่าได้เดือนละ ๑๑๐ เหรียญ ซึ่งเห็นกันว่าถูกที่สุดที่จะหาได้สำหรับบ้านใหญ่เท่านั้น เขาจะมอบให้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนหน้า…”
'via Blog this'
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น