poem

เงาของนักเขียนคนหนึ่ง 2 : วินทร์ เลียววาริณ


เงาของนักเขียนคนหนึ่ง ตอน 2 
หนึ่งแกนหลายเรื่อง


เรื่องสั้นแนวทดลองเรื่องแรกของผมที่ได้รับการตีพิมพ์ชื่อ หมึกหยดสุดท้าย ตีพิมพ์ในหนังสือช่อปาริชาต เล่ม 1 ชื่อปก ฝนหยดเดียว

หมึกหยดสุดท้าย เป็นเรื่องของ คมน์ กังวาน นักเขียนใหม่ผู้ไม่มีสำนักพิมพ์ใดต้องการตีพิมพ์งานของเขา เขาจึงขโมยชื่อนักเขียนใหญ่ เวทย์ วาทิน ส่งนวนิยายที่เขาแต่ง (ชื่อ ฝนหยดเดียว!) ไปให้สำนักพิมพ์ เมื่อส่งในชื่อ เวทย์ วาทิน งานชิ้นนั้นของคมน์ก็ได้รับการตีพิมพ์ทันที เรื่องกลายเป็นปัญหาเมื่อนวนิยายเรื่องนั้นได้รับรางวัลใหญ่

เวทย์ วาทิน ออกมาปฏิเสธว่าเรื่องที่ได้รับรางวัลไม่ใช่ผลงานของตน และฟ้องร้องดำเนินคดีนักเขียนใหม่ แต่กระแสสังคมพลิกผัน คมน์ กังวาน กลายเป็นนักเขียนดัง หนังสือขายดิบขายดี จากนักเขียนโนเนมกลายเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ในชั่วข้ามคืน

โครงเรื่องนี้หากเล่าตามขนบการเขียนเดิมก็ทำได้โดยเล่าตามลำดับเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ใส่บทสนทนาระหว่างนักเขียนใหม่กับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ นักเขียนใหม่กับนักเขีียนใหญ่ เป็นต้น

แต่ผมเลือกกลวิธีการนำเสนอโดยแปลงเรื่องสั้นทั้งเรื่องเป็นสารคดีปลอม (pseudo-documentary) ใช้รายงานข่าวในสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ ฯลฯ ในการดำเนินเรื่อง เช่น ข่าว 1 รายงานว่านักเขียนใหญ่ปฏิเสธรางวัล, ข่าว 2 รายงานว่านักเขียนใหญ่ฟ้องนักเขียนหนุ่ม, ข่าว 3 ว่านักเขียนหนุ่มเข้าคุก, บทสัมภาษณ์ เวทย์ วาทิน, บทสัมภาษณ์ คมน์ กังวาน เป็นต้น เรียงไปจนครอบคลุมเรื่องทั้งหมด ทั้งเรื่องไม่มีบทสนทนาระหว่าง คมน์ กังวาน กับบรรณาธิการสำนักพิมพ์ หรือระหว่าง คมน์ กังวาน กับ เวทย์ วาทิน ให้ข่าวและบทสัมภาษณ์นักเขียนทั้งสองทำหน้าที่แทน และบรรลุเนื้อหาเดียวกัน

วิธีคิดเรื่องนี้มีลักษณะการทำงานแบบ montage ของงานจิตรกรรม คือเอาหลายๆ องค์ประกอบมายำรวมกัน แต่การยำในเรื่องนี้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน

ผมใช้หลัก montage ค่อนข้างมากในงานเขียน ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย เช่น เรื่องสั้น คดีมโนสาเร่ เอาข่าวหนังสือพิมพ์จริงๆ จำนวนหนึ่งมาร้อยเรียงเป็นเรื่อง นวนิยายเรื่อง ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 ยากขึ้นไปอีกหลายขั้น เอาเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่งมายำรวมกัน

จะค่อยขยายความวิธีเขียนแบบ montage ในโอกาสต่อไป

การ ‘ออกแบบ’ วิธีการนำเสนอปรากฏอยู่ในแทบทุกเรื่องยุคแรกที่ผมเขียน เช่น ชู้ (ใช้เฉพาะคำนามร้อยกันเป็นเรื่อง), ตุ๊กตา (ใช้เฉพาะประโยคคำถามนามร้อยกันเป็นเรื่อง), กระดาษขาวกับคาวหมึก (ใช้ข่าวและคอลัมน์แต่ละหน้าของหนังสือพิมพ์ร้อยกันเป็นเรื่อง) เป็นต้น

ความยากของงาน big idea แบบนี้คือทำอย่างไรไม่ให้วิธีการนำเสนอเด่นเกินเนื้อหา ตรงนี้คือความยากของ ‘Form fuses with function’

แต่จากประสบการณ์ วิธีการนำเสนอแบบแปลกแต่เรียบง่ายเป็นวิธีดีที่สุด ตัวอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายนี้ก็คือ โลกีย-นิพพาน



โลกีย-นิพพาน เป็นงานวรรณกรรม + งานออกแบบกราฟิก แต่ใช้กราฟิกเรียบง่ายและน้อยที่สุด นั่นคือเป็นแค่พื้นต่างสีกันเท่านั้น

โดยสาระของเรื่อง โลกีย-นิพพาน วิพากษ์วิจารณ์สถาบันสงฆ์ สารที่สื่อคือพระที่ให้บริการด้านพุทธพาณิชย์ไม่ต่างอะไรกับหญิงให้บริการทางเพศ

นี่คือการเล่าเรื่องสองเรื่องขนานกัน ไม่ใช่กลวิธีใหม่แต่อย่างไร  สามารถทำได้ทั้งเรื่องคู่ขนานที่เป็นเรื่องเดียวกัน ตัวละครเดียวกัน แยกออกเป็นสองท่อน หรือเป็นสองเรื่องเอกเทศที่มีตัวละครคนละชุดกันก็ได้

กรณี โลกีย-นิพพาน ไม่ใช่สองเรื่องเอกเทศ ใช้ตัวละครเดียวกันทั้งสองเรื่อง เป็นการเล่าเรื่องเดียวแต่แบ่งออกเป็นสองท่อนของชีวิตตัวละครหลัก ก็คือชายหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิตผ่านศาสนาและโลกีย์

หากจะเขียนแบบขนบเดิม ก็อาจเล่าเรื่องชีวิตของพระหนุ่มในวัด พบเห็นพฤติกรรมของหลวงพี่ซึ่งประกอบพุทธพาณิชย์แล้วคิดย้อนกลับ (flashback) ไปในอดีตครั้งที่เขาไปเที่ยวผู้หญิงอาบอบนวด หรืออาจเล่ากลับกันคือให้ฉากปัจจุบันเป็นการเที่ยวอาบอบนวดของทิดหนุ่ม แล้วคิดย้อนกลับไปยังฉากในวัดสมัยที่เขาเคยบวชก็ได้ การเล่าตรงๆ แบบนี้ถ้าบรรยายดี ภาษาดี เรื่องก็ดีได้

แต่หากลองคิดต่ออีกไปอีกสักนิด ก็อาจได้วิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจขึ้น ในกรณีที่ผมทำคือใช้ กราฟิก ดีไซน์ ช่วย แบ่งเรื่องออกเป็นสองท่อน ท่อนหนึ่งคือเรื่องของตัวละครหลักกับหลวงพี่ อีกท่อนหนึ่งคือเรื่องของตัวละครหลักกับสาวบริการทางเพศ ในด้านกราฟิก แบ่งหน้ากระดาษเป็นสองซีก ซีกซ้ายปูพื้นดำตัวหนังสือขาว เป็นบทสนทนาระหว่างหญิงบริการกับลูกค้า ซึ่งเป็นทิดสึกใหม่ ซีกขวาปูพื้นขาวตัวหนังสือดำ เป็นบทสนทนาระหว่างหลวงพี่กับพระใหม่ สัญลักษณ์ (symbolic) ดำกับขาวก็ชัดเจน เข้าใจง่าย พื้นสีดำแสดงความมืด บาป พื้นสีขาวแสดงความบริสุทธิ์สะอาด ขัดแย้งแบบสุดโต่งของสองขั้วซึ่งเป็นดีไซน์ที่ตอบคอนเส็ปต์ของการตัดกันระหว่าง ‘โลกสว่าง’ กับ ‘โลกมืด’

ด้วยอานิสงส์ของ กราฟิก ดีไซน์ สามารถนำเสนอเรื่องสองเรื่องเป็นสองคอลัมน์ในหน้าเดียวกัน แต่การออกแบบเรื่องเป็นสองเรื่องสองซีกทำให้มันแยกออกเป็นสองท่อนเป็นเอกเทศ ซึ่งทำให้เรื่องขาดเอกภาพ แต่แก้ได้ไม่ยากโดยเชื่อมสองซีกเข้าด้วยกัน ในเรื่องนี้สิ่งที่ใช้เชื่อมก็คือตัวละครเดียวกันปรากฏในสองเรื่อง และคำพูดบริบทเดียวกันในสองเรื่อง สอดคล้องประสานกันตลอดเวลา ทำให้สองเรื่องกลายเป็นองค์ประกอบเดียว

ยกตัวอย่างเช่น
ซีกดำ หญิงบริการเอ่ยว่า “ถอดเสื้อออกสิ” (เพื่ออาบน้ำ)
ซีกขาว พระเอ่ยว่า “ถอดเสื้อออกสิ” (เพื่อสักยันต์)

ซีกดำ หญิงบริการเอ่ยว่า “หมดชั่วโมงแล้ว ต่อมั้ยคะ?”
ซีกขาว พระเอ่ยว่า “ตอนนี้ครบกำหนดสามเดือนที่แกตั้งใจจะบวชแล้ว จะบวชต่อไหม?”

ด้วยวิธีนี้ ก็สามารถเชื่อมสององค์ประกอบหรือสองเรื่องที่ต่างกันเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน




ขณะที่ โลกีย-นิพพาน ใช้สองเรื่องซ้อนกัน ผมทดลองต่อไปอีกขั้นโดยใช้สามเหตุการณ์ สามเวลา เชื่อมกันด้วยตัวละครคนเดียวกัน นั่นคือเรื่อง เกม และสี่เรื่องสี่เหตุการณ์ในเรื่องสั้น การหนีของราษโลกสามใบของ ราษฎร์ เอกเทศ

ฉากหลักของเรื่อง เกม คือการชกมวย แต่ละยกที่ชกกันแทรกเรื่องคู่ขนานเข้าไปอีกสองเรื่องคือเรื่องการเดินป่าตามล่าเสือลำบาก และเรื่องฉากสงครามเวียดนามการตามล่าเวียดกงในสงครามเวียดนาม

การใช้หลัก กราฟิก ดีไซน์ มาช่วยทำให้แบ่งสามเรื่องออกเป็นสาม ‘รูป’ ฉากชกมวยใช้หัวเรื่อง ยกที่ 1 ยกที่ 2 เป็นตัวบอก ในฉากเดินป่าใช้ตัวพิมพ์เอน และฉากล่าเวียดกงใช้ฟอนต์ขนาดเล็ก เพื่อแยกแยะออกเป็นคนละเรื่องอย่างชัดเจน

เช่นกันการเล่าสามเรื่องทำให้เรื่องแตกออกเป็นสามเสี่ยง ต้องเชื่อมทั้งสามเรื่องเข้ากัน ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยโยงทั้งสามเรื่องเข้าด้วยกัน ในเรื่องนี้ใช้ตัวละครคนเดียวกันเดินเรื่อง และใช้ธีมความรุนแรงเหมือนกัน ทำให้ทั้งสามเรื่องเชื่อมกันเป็นหนึ่ง เหมือนพัดลมที่มีใบพัดสามชิ้นเชื่อมบนมอเตอร์เดียวกัน

ในฉากนักมวย มีเสียงเชียร์อื้ออึงของคนดูรอบเวทีด้วยความมัน ความสะใจที่เห็นความรุนแรง ในฉากการล่าเสือ มีการแสดงการตามล่าสัตว์ ในฉากการล่าเวียดกง ก็แสดงความรุนแรง ความสะใจในการฆ่าศัตรู

การเขียนเรื่องสั้นที่ใช้เรื่องคู่ขนานมากกว่าสามเรื่องคุมยาก โอกาสที่เรื่องรกรุงรังจนเละมีสูง แต่มิใช่ทำไม่ได้ ตราบใดที่เราเชื่อมเรื่องให้สนิท

ในการทำงานศิลปะไม่ว่าสายใด เอกภาพและความเรียบง่ายจำเป็นมาก ในการเขียนเรื่องสั้น นักเขียนต้องระวังอย่าทำให้เรื่องแยกเป็นท่อนๆ หากจำเป็นต้องแยกเรื่องก็อย่าลืมประสานมันกลับเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวเสมอ เพราะเรื่องสั้นควรมีประเด็นน้อยที่สุด และไม่รุงรัง ขณะที่นวนิยายอนุญาตให้เสนอได้มากกว่าหนึ่งประเด็น และมีซัพพล็อตได้ไม่จำกัด

เรื่องย่อยหรือเรื่องคู่ขนานในเรื่องสั้นที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็คือซัพพล็อตในนวนิยายนั่นเอง เรื่องย่อยในเรื่องสั้นอาจใช้ตัวละครเดียวกันเชื่อม แต่ซัพพล็อตในนวนิยายไม่จำเป็นต้องใช้ตัวละครเดียวกันเดินเรื่อง

ตัวอย่างคลาสสิกและงดงามที่สุดน่าจะเป็น The Godfather II ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และ มาริโอ พูโซ ซึ่งประกอบด้วยสองเรื่องเอกเทศขนานกัน เรื่องหนึ่งคือชีวิตการก้าวขึ้นสู่เจ้าพ่อของ ดอน คอลิโอน อีกเรื่องหนึ่งคือชีวิตของการก้าวขึ้นสู่เจ้าพ่อของไมเคิล คอลิโอน ลูกชายของ ดอน คอลิโอน ทั้งสองเรื่องแยกเป็นเอกเทศ เป็นหนังคนละม้วน แต่ร้อยเกี่ยวกันอย่างละเมียดละไม เนียนและงาม โดยอาศัยองค์ประกอบที่เหมือนกันมาเชื่อมกัน

ตัวอย่างศึกษาอื่นๆ เช่นงานของ เควนติน แทแรนติโน ซึ่งชอบเขียนหลายเรื่องมาเชื่อมกัน แต่ละเรื่องมักแยกออกเป็นบท (chapter) ซึ่งกลายเป็น ‘ลายเซ็น’ ของเขาไปแล้ว เช่นเรื่อง Kill Bill, Pulp Fiction, Inglourious Basterds และภาพยนตร์เรื่อง Sin City ของ Frank Miller กับ Robert Rodriguez เรื่องเหล่านี้แม้จะแบ่งเป็นบทแยกออกไป แต่ก็ยังเชื่อมกันอยู่ด้วยตัวเรื่องหรือตัวละคร

Pulp Fiction ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคือเล่าเรื่องแบบ non linear คือไม่เรียงลำดับเวลา ตัวละครชื่อ Vincent Vega ถูกยิงตายในฉากหนึ่งไปแล้ว แต่ในฉากถัดๆ มากลับเดินเรื่องต่อไปตามปกติ

นวนิยายเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ก็มีโครงสร้างแบบ ‘หนึ่งแกนหลายเรื่อง’ แต่มีเรื่องมากถึงสิบเอ็ดเรื่อง ใช้แกนกลางเดียวกันคือตัวละครจ่าตุ้ยกับเสือย้อย ในท่อน 2482/2488 เล่าเรื่องคู่ขนานโดยใช้ตัวละครเดิม ฉากคุกเหมือนกัน แต่ต่างสถานที่และเวลา

แม้ว่านวนิยายสามารถมีซัพพล็อตได้ไม่จำกัด ก็ยังต้องเชื่อมซัพพล็อตเข้าด้วยกันเพื่อไม่ให้เรื่องรุงรัง

ตัวอย่างเหล่านี้บอกเราว่า นักเขียนไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นในกติกาการเขียนจนติดกับตัวเอง


(หมายเหตุ บทความชุดนี้จะแชร์ประสบการณ์การเขียนการอ่านการวิเคราะห์งาน เนื่องจากเขียนอาทิตย์ต่ออาทิตย์ อาจไม่เรียงลำดับและสะดุดบางช่วง แต่อย่างน้อยจะครอบคลุมกลวิธีการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายในระดับหนึ่งที่อาจเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว เช่นเรื่อง elements, grouping, montage, composition, establishing ฯลฯ)


วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

5 กรกฎาคม 2557
ส่งต่อให้เพื่อน :  

Share this post

Post a comment

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

:ambivalent:
:angry:
:confused:
:content:
:cool:
:crazy:
:cry:
:embarrassed:
:footinmouth:
:frown:
:gasp:
:grin:
:heart:
:hearteyes:
:innocent:
:kiss:
:laughing:
:minifrown:
:minismile:
:moneymouth:
:naughty:
:nerd:
:notamused:
:sarcastic:
:sealed:
:sick:
:slant:
:smile:
:thumbsdown:
:thumbsup:
:wink:
:yuck:
:yum: