หายตัวจากบล็อกไปนาน วันนี้เอาเรื่องหนังสือที่เพิ่งอ่านจบมาแปะไว้ซักหน่อยดีกว่า :)
สำหรับคนที่เคยอ่านเจ้าชายน้อย, ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน และ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล แล้ว การได้อ่าน “กุหลาบที่หายไป” เหมือนการทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าตนเองนั้นเป็นใครกันแน่ และถ้าลืมไปแล้วว่าตนเองเคยฟังเสียงกุหลาบได้ นิยายเรื่องนี้คือโอกาสที่จะเรียนรู้วิธ๊ฟังกุหลาบพูดคุยกันได้อีกครั้ง
นิยายว่าด้วยการเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่งข้ามฟากจากบราซิลไปยังริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรนียนของตุรกีเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตเธอเอง คนอ่านชอบช่วงที่ อาร์ทิมิสโต้เถียงกับมีเรียม (คนที่ชอบอ่านตำนานปรัมปรา ขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้น่าจะสนุกกับชื่อตัวละครที่ล้อกันไปมาตลอดเรื่อง) เลยขอยกบทสนทนามาเล่าไว้ตรงนี้นิดหน่อย
“ฉันไม่ใช่กุหลาบ ยายดอกไม้โง่!” อาร์ทิมิสพูด “ฉันเป็นเทพี!”
“ถ้าการสวม”หน้ากากแห่งความยิ่งใหญ่”นั่นทำให้เธอมีความสุขก็จงอย่าถอดมันออก สวมเอาไว้ จงพร่ำพูดว่า “ฉัน” แต่จงรู้ไว้ด้วยว่ามีราคาที่ต้องจ่าย จงรู้ไว้ว่าราคาของการพูดว่า”ฉัน”ตลอดเวลาคือการหลงลืมตัวตนที่แท้จริง...”
........
“เอาละ อาร์ทิมิส...เธอจะทำไหม”
อาร์ทิมิสไม่ตอบ
“ได้โปรด” มีเรียมพูด “เธอจดจำการเป็นดอกกุหลาบได้ใช่ไหม”
“ได้โปรด” มีเรียมพูด “เธอจดจำการเป็นดอกกุหลาบได้ใช่ไหม”
และอีกส่วนหนึ่งของนิยายที่คนอ่านชอบมาก คือ สมการที่ตัวละครตัวหนึ่งยกมาเปรียบเรื่องความเป็นไปได้ในการได้ยินเสียงกุหลาบ นี่คือการอธิบายสิ่งที่ดูเหนือจริงด้วยคณิตศาสตร์ ....ไม่รู้ว่านักคณิตศาสตร์ตัวจริงจะรู้สึกโรแมนติคกับสมการนี้เหมือนคนอ่านไหม
“ฉันแน่ใจว่าเธอมีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์มากกว่าฉัน ไดอานา แต่ฉันก็ยังอยากจะพูดสั้นๆถึงคุณค่าทางคณิตศาสตร์ของสมการนี้ให้เธอฟัง
“ถ้าเราหยิบสมการใดๆขึ้นมา ๑ หารด้วยตัวเลขอะไรสักตัว...ยิ่งตัวเลขที่นำมาหาร ๑ นั้นเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวคำตอบของสมการก็จะมีเลขศูนย์นำหน้าเลขหนึ่งที่อยู่หลังจุดทศนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราหาร ๑ ด้วยอินฟีนิตี คำตอบก็จะมีเลขศูนย์นำหน้าเลข ๑ เท่ากับอินฟินิตี ดังนั้น คำตอบก็จะเป็นศูนย์จุดศูนย์ศูนย์ศูนย์เป็นจำนวนอินฟินิตี แต่แม้ว่าเราจะไม่เห็นมัน ก็ยังคงมีเลข ๑ อยู่ปลายสุดของคำตอบเสมอ มันจึงเป็นศูนย์ แต่เป็นศูนย์พิเศษที่ลงท้ายด้วย ๑ แม้ว่ามันจะถูกปกปิดด้วยอินฟินิตีจนมองไม่เห็น
“เอาละ ตรงนี้สำคัญมาก ขณะที่สมการบอกเราว่า ความน่าจะเป็นของการทายเพลงถูกด้วยการเดานั้นเท่ากับศูนย์ แต่มันก็บอกใบ้ด้วยว่า ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทายคำตอบที่ถูกต้องออกมา เพราะยังมีเลข ๑ อยู่ตรงท้าย...”
เมื่ออ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้ว คนอ่านนึกถึงตนเองและนึกขอให้ “ศูนย์พิเศษ” เป็นสมการในหัวใจของคนที่อ่อนล้าค่ะ ...แม้ว่ามันจะถูกปกปิดด้วยอินฟินิตีจนมองไม่เห็น ความเป็นไปได้แม้เพียง “๑” นั้น ยังคงอยู่ที่ปลายสุดของคำตอบเสมอ
กุหลาบที่หายไป (The Missing Rose)
Serdar Ozkan เขียน
มนทรัตม์ แปล
แพรวสำนักพิมพ์ , ๒๕๕๓
'via Blog this'
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น